วันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2559 เวลา 07:08 น.
จำนวนคนอ่านล่าสุด 31 คน
 เมืองไทย 25 น.

 ทวี มีเงิน


 กระแสไม่พอใจรัฐบาลบิ๊กตู่ ขยายวงเรื่อยๆ คิวต่อไปคือ “สภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ” ที่จะออกมาต้าน “การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ” ที่รัฐบาลเอาจริงถึงขั้นตั้ง “ซูเปอร์บอร์ด” มี “บิ๊กเนม” อย่าง บัณฑูร ล่ำซำ, บรรยง พงษ์พานิช, ดร.วิรไท สันติประภพ, ดร.ประสาร ไตรรัตนวรกุล ร่วมวง

 เจตนาต้องการนำรัฐวิสาหกิจที่กระจายอยู่ตามกระทรวงต่างๆ ซึ่งเป็น “ขุมทรัพย์” นักการเมืองส่งคนมาคุม “การจัดซื้อจัดจ้าง” เอามารวบอยู่ในการดูแลของ “ซูเปอร์โฮลดิ้ง” เหมือนเทมาเส็กของสิงคโปร์ เริ่มประเดิม 12 รัฐวิสาหกิจ อย่าง การบินไทย ปตท. การสื่อสาร ทีโอที ก่อนถามว่าทำไมต้องปฏิรูป

 ต้องยอมรับว่า “รัฐวิสาหกิจ” คือ “เค้ก” ก้อนใหญ่ เฉพาะทรัพย์สินมีถึง 11.9 ล้านล้านบาท รายได้ราวๆ 5.5 ล้านบาท แต่ส่งเข้ารัฐล่าสุดแค่ 1 แสนล้านบาทเท่านั้น หากบริหารจัดการดีๆ ขนาดของทรัพย์สินและรายได้ ขนาดนี้เอามาแก้วิกฤตเศรษฐกิจประเทศได้สบายมาก ที่ผ่านมาส่วนหนึ่งมักตกไปอยู่ในกระเป๋าฝ่ายการเมืองและพวกพ้อง

 เหนือสิ่งใด “จุดอ่อน” ของรัฐวิสาหกิจทำให้ต้องปฏิรูปคือ การบริหารจัดการ “ไร้ประสิทธิภาพ” ยังห่างชั้นกับ “เอกชน” และรัฐวิสาหกิจของเพื่อนบ้าน อาทิ กสท.โทรคมนาคม และ ทีโอที สู้เอไอเอส ดีแทค ทรู ไม่ได้ การบินไทยประสิทธิภาพ ยังต่ำกว่าบางกอกแอร์เวย์สและสิงคโปร์แอร์ไลน์ กระทั่ง ปตท. ประสิทธิภาพไม่ถึงครึ่งปิโตรนาส

 ที่พอมีกำไร ไม่ว่าจะเป็นทอท. กฟผ. ปตท. การท่าเรือ และบขส. แต่ก็เพราะ “การผูกขาด” แต่รายไหนที่ต้องแข่งขันอย่างการบินไทย รฟท. ทีโอที ล้วนขาดทุนทั้งสิ้น 

 ความไร้ประสิทธิภาพนี่แหละ เท่ากับทำให้ประเทศ “เสียโอกาส” และประชาชนใช้ของแพงขึ้นตามโสหุ้ยเบี้ยบ้ายรายทาง

 แต่จุดอ่อน “ซูเปอร์โฮลดิ้ง” ตรงที่รัฐวิสาหกิจทั้งหมดอยู่ในมือองค์กรเดียว คนที่มาดูต้อง “เก่ง” และ “ดี” จริงๆ พร้อมคำถามว่านั่นอาจจะเปิดช่องให้การเมือง “ฮุบ” ได้ง่ายขึ้น แทนที่จะกินทีละคำอย่างทุกวันนี้ ต่อไปกิน “คำโต” ทีเดียวเลย 

 บอกตรงๆ งานนี้ไม่หมู ต้องฝ่าด่านแรกที่หินสุดๆ “สหภาพ แรงงาน” ให้ได้ แถมแม้แต่ “รัฐมนตรี” ในรัฐบาลอาจจะขวาง เพราะเท่ากับไปแย่งอำนาจ และผลประโยชน์เขามา แถม “คลื่น ใต้น้ำ” จากอดีตนักการเมืองที่กลัวจะโดนมาตามล้างตามเช็ด “ฝ่ายจัดซื้อ” คนพวกนี้ยังมีพวกพ้องข้างในพร้อมจะออกมาต้านทันที

 ข้ออ้างพวกต้านจะชูคือ ต่อต้านการแปรรูป

0 comments:

Post a Comment

 
Top